เทคโนโลยีดิสรัปต์ที่ซัดกระหน่ำใส่หลายธุรกิจ ทั้งการเงิน วงการแฟชั่น ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอาหารที่ต้องเจอกับความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ การให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของฟู้ดเทค
สตาร์ตอัพ (food tech start up) ทั่วโลก ที่มีแนวคิดในการเข้ามาเพิ่มปริมาณอาหาร ยืดอายุการเก็บ ด้วยนวัตกรรมและวิธีการใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มทางเลือกโดยเฉพาะ “เนื้อสัตว์ทดแทน” ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกจากพืช (plant-based foods) หรือนมที่ทำจากพืช (plant-based milk)
ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกก็พยายามเปลี่ยนบทบาทและผลักดัน “ฟู้ดเทคสตาร์ตอัพ” สัญชาติไทยให้มีโอกาสเติบโตบนตลาดโลกด้วย
ปั้น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”
“พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญในการพัฒนาสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างโอกาสให้กรุงเทพฯก้าวสู่การเป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” ผ่านโครงการ SPACE-F เมื่อปีที่ผ่านมา จากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัท ไทยยูเนี่ยน สร้างระบบนิเวศของสตาร์ตอัพขึ้นในไทยและปีนี้ได้เปิดตัวโครงการปีที่ 2 พร้อมกับมี 3 พันธมิตรใหม่ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เข้าสนับสนุน ทำให้โครงการ SPACE-F เป็นการประสานพลังของรัฐ เอกชน และภาคการศึกษาชั้นนำ
โครงการ SPACE-F ประกอบด้วยโครงการบ่มเพาะ (incubator program) และโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (accelerator program) ที่จะร่วมผลักดันและสนับสนุนสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้สร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความแตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
เน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมอาหารโลกใน 9 เทรนด์ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ พัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่ การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหารและบริการอัจฉริยะด้านอาหาร
“ไทยยูเนี่ยน” ปักธงลงทุน
“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง กล่าวว่า ฟู้ดเทคสตาร์ตอัพทั่วโลกมีโอกาสเติบโตอย่างมาก เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ และแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีฟู้ดเทคสตาร์ตอัพจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศจึงเป็นความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมอาหารแบบดั้งเดิมที่มีการใช้แรงงานคนเป็นหลัก สู่อุตสาหกรรมอาหารรูปแบบใหม่ หรือฟู้ดเทค ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหาร
บริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารจึงเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพกลุ่มฟู้ดเทคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้งบประมาณโดยรวม 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 3-5 ปีจากนี้ ปัจจุบันมีการลงทุนทั้งในกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในกลุ่มฟู้ดเทค และลงทุนเอง 4 แห่ง ทั้งสิงคโปร์ อิสราเอล ไทย อเมริกา เช่น ฟลายอิ้ง สปาร์ค ผู้ผลิตโปรตีนจากตัวอ่อนแมลงเพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกที่ยั่งยืนและอุดมไปด้วยสารอาหาร เป็นต้น
“อุตฯอาหารรูปแบบเดิมที่ใช้แรงงานคนมีลดลงเรื่อย ๆ ไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลกต้องหาแนวทางใหม่ เพื่อสร้างการเติบโต เพิ่มมูลค่าให้อุตฯอาหารแบบขายน้อยแต่ได้มาก ซึ่งบริษัทเข้าไปลงทุนกับสตาร์ตอัพกลุ่มนี้จำนวนมาก เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจในเครือ”
“ธีรพงศ์” กล่าวว่า บริษัทยังมีศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน เพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับนวัตกรรมแบบเปิด หรือ open innovation โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ และสตาร์ตอัพที่มีแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจ รวมถึงโครงการ SPACE-F ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่จะพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
จุดพลุฟู้ดเทคสตาร์ตอัพไทย
สำหรับฟู้ดเทคสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ SPACE-F ต่างมองไปยังการขยายตลาดในต่างประเทศ
“ศิริเพ็ญ สุนทรมั่นคงศรี” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซซามิลค์ ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมทางเลือกผลิตจากงา Sesamilk กล่าวว่า บริษัทพัฒนานมทางเลือกที่ผลิตจากงา โดยต่อยอดมาจากธุรกิจดั้งเดิมที่มีความรู้เรื่องธัญพืช และมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ “เซซามิลค์” เป็นโกลบอลแบรนด์ในกลุ่มนมทางเลือกที่ผลิตจากงา
ปัจจุบันวางจำหน่ายช่องทางออนไลน์และซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศ รวมถึงการทำตลาดในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเวียดนาม
เช่นเดียวกับ “ฐิติมา วงศ์ฐะกัณฑ์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท นิธิ ฟู๊ดส์ จำกัด ผู้พัฒนาเนื้อเทียมจากพืช “Let’s Plant Meat” กล่าวว่า Let’s Plant Meat เป็นกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากถั่วและข้าวเป็นหลัก โดยออกแบบให้หน้าตา เนื้อสัมผัส และรสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากที่สุด มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายแล้วคือเบอร์เกอร์เนื้อ เจาะกลุ่มคนรักอาหารตะวันตก และเนื้อบดสำหรับปรุงอาหารกำลังจะเปิดตัวในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้
“เรามีพาร์ตเนอร์เป็นร้านอาหารตามสั่งในเครือเซ็นกรุ๊ป คือร้าน เขียง ที่รับเนื้อบดไปเป็นหนึ่งในวัตถุดิบปรุงอาหาร ถือเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคทิศทางธุรกิจต่อจากนี้จะขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศควบคู่กัน โดยตลาดในประเทศจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมหาพาร์ตเนอร์กลุ่มร้านอาหาร ส่วนตลาดต่างประเทศในปี 2564 รวม 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซีย และจีน”
อีกแบรนด์โปรตีนทางเลือกคือ “More Meat”
“กัญญ์วรา ธนโชติวรพงษ์” ผู้ก่อตั้ง “More Meat” กล่าวว่า ความพิเศษของเนื้อเทียม “More Meat” คือส่วนประกอบหลักที่มาจาก “เห็ดแครงและโปรตีนถั่วเหลือง” ซึ่งกำลังจะวางจำหน่ายปลายเดือน ก.ย.นี้ โดยเน้นเจาะตลาด “บีทูบี” ในกลุ่มร้านอาหาร ซึ่งได้พาร์ตเนอร์อย่างบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กระจายสินค้าให้ และในปี 2564 จะขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อทดแทนที่ไม่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคที่แพ้ถั่วด้วย
น่าจับตาว่าการเติบโตของนวัตกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ของบรรดา“ฟู้ดเทคสตาร์ตอัพ” ทั้งหลายจะค่อย ๆ เปลี่ยนเทรนด์อาหาร และเครื่องดื่มทางเลือกที่ปัจจุบันเป็น “นิชมาร์เก็ต” (niche market) ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับอนาคตที่กำลังเติบโตได้แค่ไหน
ยักษ์อาหารตื่นตัวลงทุน
ก่อนหน้านี้ยักษ์ใหญ่ในแวดวงอาหารบ้านเรามีการลงทุนในฟู้ดเทคสตาร์ตอัพอย่างคึกคัก เช่น ก่อนหน้านี้บริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหารได้ตั้งกองทุนเพื่อลงทุนธุรกิจในฟู้ดเทคสตาร์ตอัพทั่วโลก ภายใต้วงเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้วใน 15 บริษัท เช่นกันกับไมเนอร์กรุ๊ปที่จับมือกับกองทุน “Disrupt Technology Venture” และ “500 TukTuks” จัด “Hackathon Food and Dining Tech” ตั้งแต่ปี 2561 และเตรียมเงินลงทุนไว้ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันธุรกิจฟู้ดเทคไทยสู่ครัวของโลก
September 13, 2020 at 09:21AM
https://ift.tt/2Rs5AMB
'ฟู้ดเทค' พลิกธุรกิจอาหาร 'สตาร์ตอัพไทย' ยกทัพบุกตลาดโลก - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2MtBO7Q
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'ฟู้ดเทค' พลิกธุรกิจอาหาร 'สตาร์ตอัพไทย' ยกทัพบุกตลาดโลก - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment